คนทั่วโลกรู้จักชื่อของ”SRIRACHA”ผ่านทางซอสพริกเผ็ดร้อนรสกลมกล่อม ในขวดจุกแหลมสีเขียวเป็นเอกลักษณ์ แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าศรีราชาเป็นชื่อของเมือง เมืองหนึ่งในประเทศไทย ที่ผลิตซอสพริกแซ่บๆ และกินซอสพริกกันทั้งเมืองอย่างจริงจัง กินกับทุกอย่าง แทบทุกร้านต้องมีเสิร์ฟให้ลูกค้าได้กิน เรียกได้ว่าซอสพริกศรีราชาเป็นส่วนหนึ่งของเมืองนี้ และเมืองนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของซอสพริกศรีราชาเช่นกัน เป็นเช่นนี้มาเนิ่นนาน
ซอสพริกศรีราชาในไทยมีอยู่จำนวนไม่น้อย ทั้งซอสพริกสูตรดั้งเดิมที่ผลิตขึ้นในเมืองนี้เองและที่อื่นๆ แต่ถ้าจะถามว่าใครมาก่อนกว่า ระหว่างเวียดนามหรือไทย เรามิอาจไปสรุปในเรื่องนี้
แต่ก็มีการบันทึกไว้ในเสาโบสถ์ของวัดศรีมหาราชา อำเภอศรีราชาว่า นายกิมซัว ทิมกระจ่าง เป็นผู้คิดค้นน้ำพริก(ซอส)พริกศรีราชา ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2456
บางข้อมูลก็บอกว่าชาวเวียดนามคนนึงที่อพยพไปอเมริกา แล้วแวะมาที่เมืองศรีราชา จนได้พบกับซอสพริกสูตรนี้เข้าเลยชอบอกชอบใจ เมื่อย้ายไปถึงที่อเมริกาลองทำขายโด่งดังกันไปและใช้ชื่อศรีราชาตามเมืองที่พบ
บางข้อมูลก็บอกว่าเป็นสูตรที่มาจากเวียดนามดัดแปลงมาจากซอสดั้งเดิมของเค้าเองนะ
บางข้อมูลก็ว่าซอสดั้งเดิมจริงแล้ว น่าจะมาจากซอสในประเทศจีน ชื่อ Koon yick wah kee แต่มีการปรับปรุงรสชาติเพิ่มขึ้นตามความชอบของคนในแต่ละประเทศทั้งไทยและเวียดนามเอง แต่ถึงอย่างไรเราก็ขอขอบคุณชาวเวียดนามท่านนั้นที่ทำให้คนทั่วโลกได้รู้จักชื่อของเมืองนี้ไปโดยปริยาย
สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าประวัติของซอส ก็คือรสชาติที่แตกต่างกันอย่างไม่น่าเชื่อ
“ในแต่ละแบรนด์ตีความ และนำเสนอซอสพริกศรีราชาในมุมของตัวเองซึ่งเราจะขอไม่สรุปว่าตัวใดอร่อยที่สุด แต่ขอเชิญคุณสำรวจไปพร้อมกัน”
หลังจากพ่อครัว Pizza ได้เจอช่อง OTR Food & History ทำคลิปเกี่ยวกับประวัติของซอสศรีราชาและมีการชิมซอสพริกกกหลายตัว จึงเกิดความสนใจในการขุดค้นข้อมูลเพิ่มเติม และเจอซอสอีกหลายแบรนด์ที่น่าสนใจ
จนอยากจะพาคุณไปรู้จักกับซอสพริกศรีราชาให้มากขึ้นอีกหน่อยในฐานะคนพื้นที่ โดยการนำซอสพริกศรีราชายี่ห้อต่างๆ เท่าที่หาได้มาชิมกัน โดยมีตั้งแต่ซอสดั้งเดิม ซอสท้องถิ่น ซอสเจ้าแรก ซอสต้นตำรับ ซอสเผ็ดน้อยเผ็ดมาก โดยเราเน้นยี่ห้อที่หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด(?) เผื่อผู้ชิมจะได้หาซื้อมาทดลองกันได้ โดยมีการวัดผลจากอาสาสมัครนักชิมจากร้าน Little Town และพิซซ่าอินดี้ Artisa Cusina โดยแบ่งหัวข้อเป็น
tanginess - ความเปรี้ยว
sweetness - ความหวาน
saltiness - ความเค็ม
spiciness - ความเผ็ด
chili smell - กลิ่นพริก
fermented smell - กลิ่นหมัก บ่ม
body - เนื้อสัมผัส
coarseness - ความหยาบของเนื้อซอส
viscosity - ความข้น
โดยมีคะแนนสูงที่สุด 5 คะแนน
หากผู้อ่านยังไม่ได้กินอะไร แนะนำว่าลองไปทอดข้าวไข่เจียวร้อนๆ หยอดพริกศรีราชาในครัวของคุณแล้วทดสอบไปด้วยกัน เริ่ม!
ซอสพริกศรีราชาตราเกาะลอย (เผ็ดกลาง)
หนึ่งในซอสพริกศรีราชาเพียงไม่กี่เจ้าที่ยังผลิตอยู่ในพื้นที่ศรีราชา มีประวัติยาวนานไม่แพ้อีกหลายแบรนด์ เนื้อพริกยังมีความหยาบอยู่บ้าง แต่บอดี้ไม่หนัก มีความเหลว
รสหวานนำ เผ็ดน้อย อาจจะเพราะส่วนผสมมีเนื้อพริกน้อยกว่าหลายแบรนด์ (34%) สวนทางกับกลิ่นที่หอมกลิ่นพริกกว่าที่คาด เจือกลิ่นหมักอ่อน ๆ
*ไม่ใส่วัตถุกันเสีย
*ไม่ใส่สีสังเคราะห์
ซอสพริกศรีราชาตราแม่น้ำเงิน (เผ็ดอร่อย)
ซอสพริกแม่น้ำเงิน ตัวแรงย่านตำบลบางพระซึ่งอยู่ในพื้นที่อำเภอศรีราชานี่เอง
เนื้อค่อนข้างหยาบ บอดี้กลาง ๆ แต่มีความหนืด
รสชาติเข้มข้น เผ็ดจัด และเผ็ดโดดเด่นมาก รสอื่น ๆ จะตามมาภายหลังอย่างกลมกล่อม หลังจากกลืนแล้วทิ้ง After taste ของรสเผ็ดไว้ได้นานที่สุด
กลิ่นพริกชัด กลิ่นหมัก หอม หวาน
*ไม่ใส่วัตถุกันเสีย
*ไม่ใส่สีสังเคราะห์
ซอสพริกโกศล สูตรเผ็ดกลาง
ซอสพริกยอดนิยมพบเห็นได้ในหลายร้านในเมืองชลฯ
คนพื้นที่หลายคนยังสับสนว่าเป็นซอสพริกศรีราชา แบรนด์โกศล
แต่ตัวนี้เป็นแบรนด์นกนางนวล ที่ออกตัวว่าเป็นซอสพริกโกศล ไม่ใช่ซอสพริกศรีราชา
ลักษณะก็คือซอสพริกศรีราชานั่นแหละ เหมือนแบบแยกไม่ได้ด้วยตาเปล่า
เนื้อละเอียด บอดี้กลาง ๆ แต่เหลวนะ
รสชาติเปรี้ยวหวานนำ เผ็ดตามบาง ๆ กลิ่นพริกและกลิ่นหมักกลาง ๆ
*ไม่ใส่ผงชูรส
*ไม่ใส่สีสังเคราะห์
ซอสพริกโกศล สูตรเผ็ดมาก
ฉลากเขียว เป็นสูตรเผ็ดมาก แต่รสชาติใกล้เคียงกับสูตรเผ็ดกลางมากจนแยกเกือบไม่ออก
มีเพียงรสเปรี้ยว และเผ็ดที่มากกว่าเดิมขึ้นอีกนิด
มีกลิ่นหมักค่อนข้างแรง
*ไม่ใส่ผงชูรส
*ไม่ใส่สีสังเคราะห์
ซอสพริกศรีราชาตราเหรียญทอง สูตรเผ็ดน้อย
ซอสพริกจากเมืองกรุงฯ ที่นอกจากจะเคยได้รางวัลชนะเลิศ จนมาเป็นชื่อแบรนด์
และตั้งฐานการผลิตอยู่ที่เมืองกรุงฯ
แต่จริง ๆ แล้วเป็นหนึ่งในตระกูลที่ผลิตซอสศรีราชามานาน
ถ้านับตามปีที่ผลิต พ.ศ. 2475 (1932) ถือว่าเป็นซอสพริกศรีราชาแบรนด์เก่าแก่แบรนด์หนึ่ง
เนื้อมีความหยาบของส่วนผสม บอดี้กลาง ๆ แต่ค่อนข้างเหลวไม่หนืด
กลิ่นพริกเตะจมูก รสหวานเด่น และเผ็ดตามมา ทิ้งความเผ็ดไว้บนลิ้นนาน
แม้จะใส่พริกชี้ฟ้าเพียง 30% ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับแบรนด์อื่น ๆ
หากทิ้งไว้จะนอนก้น ซึ่งเขย่าก่อนใช้งานก็พร้อมลุย
*เจือสีสังเคราห์
ซอสพริกศรีราชาตราเหรียญทอง สูตรเผ็ดมาก
เป็นสูตรที่ปรับจากพริกชี้ฟ้า 30% มาเป็นพริกขี้หนู 20% และพริกชี้ฟ้า 10%
ความต่างจากสูตรเผ็ดน้อยคือ ความหวานที่ลดลงเล็กน้อย และความเผ็ดมากขึ้น
ซอสพริกศรีราชาตราศรีราชาพานิช สูตรเผ็ดกลาง
เป็นหนึ่งในต้นตระกูลที่ทำซอสพริกในพื้นที่ศรีราชามานานตั้งแต่ พ.ศ.2478 (1935) ในภายหลังบริษัท ไทยเทพรส ได้เข้ามาซื้อกิจการ และขยายตลาดจนเป็นซอสพริกที่พบเห็นได้ง่ายตามห้างร้านมากมาย
เนื้อซอสเนียนละเอียดมาก บอดี้บาง ๆ แต่หนืดนะ
รสชาติกลาง ๆ เผ็ดน้อย กลิ่นหมักชัดกว่ากลิ่นพริก ซึ่งทั้งสองกลิ่นมาแบบบาง ๆ
ถือเป็นซอสพริกศรีราชาตัวเริ่มต้น
*ไม่ใส่วัตถุกันเสีย
*ไม่ใส่สีสังเคราะห์
*ไม่ใส่ผงชูรส
ซอสพริกศรีราชาตราศรีราชาพานิช สูตรเผ็ดมาก
เพิ่มพริกกันมาอีกนิด กับศรีราชาพานิชสูตรเผ็ดมาก
เนื้อมีบอดี้มากข้ึน หนืดขึ้น และเปรี้ยว เผ็ดมากขึ้นอีก
ระวังนะ ขวดบีบแบบนี้ซอสพุ่งแรงมากเลย
*ไม่ใส่วัตถุกันเสีย
*ไม่ใส่สีสังเคราะห์
*ไม่ใส่ผงชูรส
ซอสพริกศรีราชาตราศรีราชาพานิช สูตรซอสพริกเหลืองเผ็ดร้อน
ซอสพริกเหลืองในตำนาน เนื่องจากพริกเหลืองราคาสูง เป็นสูตรที่ใส่พริกเยอะกว่ารุ่นอื่น ๆ
เนื้อเนียนตามฉบับศรีราชาพานิช แต่มีความหยาบและความเหลวกลาง ๆ
มีรสเผ็ดกว่าตัวอื่นในแบรนด์อย่างเห็นได้ชัด กลิ่นพริกชัด ตามด้วยกลิ่นหมักอ่อน ๆ
มีความเผ็ดร้อนสมชื่อสูตร
*ไม่ใส่วัตถุกันเสีย
*ไม่ใส่สีสังเคราะห์
*ไม่ใส่ผงชูรส
*ไม่ใส่แป้ง
ซอสพริกศรีราชาตราเสือร้องไห้
ซอสพริกศรีราชารุ่นใหม่ จากจังหวัดสมุทรสาคร
เนื้อค่อนข้างละเอียด แต่หนืด
รสดุ เผ็ดจัด เปรี้ยวตามบาง ๆ หวานน้อย มีกลิ่นหมัก ๆ ตามด้วยกลิ่นพริก และมีกลิ่นเฉพาะ บอกไม่ถูกว่ากลิ่นอะไร
*ไม่ใส่วัตถุกันเสีย
*ไม่ใส่ผงชูรส
ซอสพริกศรีราชาตราภูเขาทอง สูตรเผ็ดมาก
อีกหนึ่งซอสพริกของตระกูลที่ทำซอสพริกมานาน ซึ่งตราภูเขาทองได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตั้งแต่ปี 2488 (1945) เห็นว่าเป็นแบรนด์ที่ผลิตเพื่อส่งขายต่างประเทศ ก่อนจะตั้งอีกบริษัทเพื่อขายในประเทศต่อไป
เนื้อค่อนข้างละเอียด บอดี้หนา แต่เหลว
รสชาติเค็มนำ เปรี้ยวหวานตาม เผ็ดไม่มาก
กลิ่นหมักค่อนข้างเด่นกว่ากลิ่นพริก กลิ่นคล้ายเต้าเจี้ยวนิด ๆ
ซอสพริกศรีราชาตราสามภูเขา สูตรเผ็ดมาก
เป็นผู้ผลิตเดียวกับซอสพริกศรีราชาตราภูเขาทอง (บางกอกซอส) แต่เป็นแบรนด์ที่ตั้งขึ้นและผลิตซอสในภายหลังเพื่อจัดจำหน่ายในประเทศ
รสสัมผัสมีความหยาบ หนืด บอดี้กลาง ๆ
รสชาติกลาง ๆ อมเปรี้ยวนิด ๆ
เด่นที่กลิ่นพริกขวดนี้ มีกลิ่นที่ออกไปทางสดชื่น แนว Fruity(?) แซมมา
*ไม่ใส่วัตถุกันเสีย
*ไม่ใส่สีสังเคราะห์
*ไม่ใส่ผงชูรส
ซอสพริกศรีราชาตรา Heinz
ซอสพริกจากบริษัทซอสสัญชาติเยอรมัน ที่อยากลองทำแบบศรีราชาบ้าง
ฉลากมีภาษาญี่ปุ่นแปะอยู่ด้วย น่าจะเพราะศรีราชามีชาวญี่ปุ่นอยู่เยอะ(?)
รสชาติ รสสัมผัสคือซอสพริกในร้านไก่ทอดที่เราคุ้นเคย
เนื้อเหลวเทง่าย ตัวซอสละเอียด แต่บอดี้ซอสหนานะ
รสหวาน ทานง่าย เผ็ดน้อย
มีกลิ่นพริกกลาง ๆ แต่แทบไม่ได้กลิ่นหมักเท่าไหร่
ซอส Koon Yick wah kee
ซอสที่อาจจะเป็นญาติที่เก่าแก่ของของศรีราชา เห็นว่าตั้งเริ่มผลิตปี 1891 จาก Guangzhou (บนขวดเขียนว่าผลิตที่ฮ่องกง) และชุมชนคนจีนที่ศรีราชาส่วนใหญ่ก็เป็นคนกวางตุ้ง อาจจะมีความเชื่อมโยงบางอย่าง
เนื้อละเอียด บอดี้หนาและข้นมาก
รสชาติเปรี้ยว เค็มจัด เผ็ดกลาง และแทบไม่หวานเลย
กลิ่นพริกพอมี แต่กลิ่นหมักแรงมาก ออกไปทางเต้าเจี้ยว
มีแป้งมันหวานเพิ่มเข้ามาด้วย และน่าจะใช้น้ำส้มสายชูเยอะกว่าอย่างอื่นเพราะน้ำส้มสายชูขึ้นเป็นอันดับแรกของส่วนผสม
ซอสพริกเผ็ดน้อย ตราภูเขาทอง
พอดีสงสัยว่าซอสพริกศรีราชาจะต่างจากซอสพริกอื่น ๆ อย่างไรบ้าง เลยจับมาชิมดู
เนื้อละเอียด บอดี้หนา แต่ค่อนข้างเหลวเทง่าย
รสหวานเป็นหลัก เปรี้ยวนิด เผ็ดน้อย
มีกลิ่นพริกชัด น่าจะเพราะไม่ค่อยมีกลิ่นหมัก
*ไม่ใส่วัตถุกันเสีย
*ไม่ใส่สีสังเคราะห์
*ไม่ใส่ผงชูรส
ครบกันแล้วนะครับสำหรับการทดสอบชิมซอสพริกศรีราชาทั้ง 15 แบบในวันนี้ ขอขอบคุณนักชิมทุกท่านที่สนใจและแวะเข้ามาอ่านบทความนี้ ทางทีมผู้เขียนหวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักชิม และเป็นข้อมูลของซอสศรีราชานี้ไปในอนาคต
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิง
Comments